การงานและบทบาททางการเมือง ของ ชุมพล โลหะชาละ

ชุมพลเป็นคนสนิทของจอมพล ป.พิบูลสงคราม เขาเป็นหนึ่งในสามคนที่ได้ติดตามจอมพล ป.พิบูลสงคราม หลบหนีโดยเดินทางไปโดยรถยนต์ประจำตัวนายกรัฐมนตรียี่ห้อฟอร์ด รุ่นธันเดอร์เบิร์ดไปทางจังหวัดตราด และว่าจ้างเรือประมงลำหนึ่งเดินทางไปที่เกาะกง ประเทศกัมพูชา[4] เมื่อครั้งเกิดรัฐประหารในประเทศไทย พ.ศ. 2500[5] อย่างไรก็ดีเมื่อเขากลับไปรายงานตัวที่จังหวัดพระนคร เขาไม่ถูกลงโทษ[2]:204

หลังจากพระบาทสมเด็จพระเจ้าอยู่หัวภูมิพลอดุลยเดชเสด็จฯ ต่างประเทศหลังจากสฤษดิ์ฟื้นฟูพระราชอำนาจ เขาตามเสด็จฯ แทบทุกครั้งในฐานะนายตำรวจราชสำนัก ซึ่งรวมถึงตามถวายอารักขาการเสด็จฯ เยี่ยมราษฎรทั่วประเทศ[2]:204–5 ในช่วงนั้นเขาเป็นผู้บัญชาการตำรวจสอบสวนกลาง[2]:205

ต่อมาได้รับแต่งตั้งเป็นสมาชิกวุฒิสภา ในปี พ.ศ. 2511[6] ต่อมาเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของนายสัญญา ธรรมศักดิ์ ในปี พ.ศ. 2516 และในปี พ.ศ. 2517 ซึ่งเป็นรัฐบาลที่ประกอบขึ้นจากผู้ที่พระมหากษัตริย์ไว้วางพระราชพฤทัย[2]:205 เขาได้เลื่อนเป็นรองอธิบดีกรมตำรวจในปี 2519[2]:205[7][8] ในคดีการเมืองที่เขาคุมอยู่นั้น คดีที่ผู้เสียหายเป็นฝ่ายซ้ายจะตามจับผู้ใดไม่ได้ ซึ่งรวมถึงคดีฆ่าแขวนคอพนักงานการไฟฟ้าที่จังหวัดนครปฐมในวันที่ 24 กันยายน 2519 ด้วย แต่ถ้าเป็นฝ่ายนักศึกษาจะตามจับได้ทุกราย[2]:205–6

ในเหตุการณ์ 6 ตุลา (2519) เขาเป็นผู้สั่งการให้ตำรวจสลายการชุมนุมของนักศึกษาในมหาวิทยาลัยธรรมศาสตร์[2]:199 ทั้งนี้แม้ว่า สุธรรม แสงประทุมและนักศึกษาที่ถูกกล่าวหาว่าหมิ่นพระบมเดชานุภาพยอมมอบตัวแล้ว[2]:202 พฤติกรรมของเขาสะท้อนชัดเจนว่าต้องการปราบนักศึกษาให้สิ้นซากหรือลบชื่อ ศนท.[2]:203

กระทั่งได้รับแต่งตั้งเป็นรัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงมหาดไทย ในรัฐบาลของพลเอก เกรียงศักดิ์ ชมะนันทน์ ในปี พ.ศ. 2522 จนถึงปี พ.ศ. 2523[9][10]